เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จัดพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งศาสตราจารย์ ณ ห้องประชุมสุวัจน์ ลิปตพัลลภ 2 โดยพิธีเริ่มจากการเชิญประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งศาสตราจารย์ ดร. สามารถ จับโจร โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สวียา ปรารถนาดี ชาติวิวัฒนาการ เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ จากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี เป็นผู้อ่านประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และ ศาสตราจารย์ ดร.สามารถ จับโจร เปิดกรวยกระทงดอกไม้ด้านหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายความเคารพและกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีใจความว่า “จะทุ่มเททำงานตามมาตรฐานจริยธรรมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญจะเพียรพยายามมุ่งมั่นทำงานในหน้าที่ให้เกิดประโยชน์ต่อวงวิชาการ สืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพร้อมปฏิบัติหน้าที่ด้านการศึกษาอย่างเต็มกำลัง พร้อมจะปกป้องรักษาไว้ ซึ่งเกียรติภูมิแห่งสถาบันชาติ ศาสนาตลอดจนจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่รักยิ่งของประชาชนชาวไทย สืบไป” พร้อมกันนี้มหาวิทยาลัยได้ร่วมแสดงความยินดี โดยอธิการบดีและจากนั้นในช่วงบ่ายได้มีการแสดงความยินดีผ่านระบบประชุมออนไลน์ จากนายสุวัจน์
ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัย และมอบหมาย ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้แทนมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดี
ศาสตราจารย์ ดร.สามารถ จับโจร เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านทัศนศิลป์ สังกัดหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อาจารย์พิเศษ ภาควิชาศิลปกรรม สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ พ.ศ. 2539-2540 ผู้ทรงคุณวุฒิและอาจารย์พิเศษประจำคณะศิลปะประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2548-2552 ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประธานกรรมาธิการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2552 ที่ปรึกษาสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2552-2555 ผู้ทรงคุณวุฒิทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรม จรรยาบรรณทางวิชาการ ก.พ.อ. พ.ศ. 2560-ปัจจุบัน มีผลงานที่โดดเด่นประกอบด้วยงานสร้างสรรค์เรื่อง “สัมพันธภาพของรูปทรง” งานวิจัย เรื่อง “การออกแบบและสร้างสรรค์ประติมากรรม พุทธศิลป์นุสรณ์ 100 ปีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา งานวิจัย เรื่อง “การออกแบบและสร้างสรรค์ประติมากรรม หินทรายจากเปลือกหอยเชอรี่ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนบ้านท่าหลวง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา” และตำรา เรื่อง “ประติมากรรมกับมนุษย์” เป็นแบบอย่างที่ดีในการก้าวสู่ตำแหน่งทางวิชาการระดับสูงให้กับคณาจารย์ต่อไป